แนวคิดในการก่อตั้ง
สำนึกรักบ้านเกิด

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด มุ่งเน้นการส่งเสริมคนให้เป็นรากฐานของสังคมด้วยการสนับสนุนด้านการศึกษาไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังความเป็นจิตอาสา ให้กับเยาวชน “การพัฒนาประเทศที่แท้จริงจะต้องเกิดจากการพัฒนาคน และการที่จะพัฒนาคนได้ ก็จะต้องพัฒนาทางด้านการศึกษา แต่เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาทางด้านการศึกษา สิ่งที่มักจะมุ่งเน้นก็คือความเก่ง ความสำเร็จ โดยไม่ได้เน้นที่คุณธรรม และความดี ดังนั้น การพัฒนาอย่างแท้จริงน่าจะเป็นการศึกษาที่ทำให้คนคิดได้ คิดเป็น และรู้จักดำรงชีวิตด้วยความดีงาม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ” นอกจากการพัฒนาด้านการศึกษาแล้วยังมีกิจกรรมเพื่อสังคม “ร่วมด้วยช่วยกัน” โดยมุ่งหวังให้คนร่วมด้วยช่วยกันมีความรักในถิ่นฐานกำเนิดด้วยเช่นกัน
ร่วมด้วยช่วยกัน กิจกรรมเพื่อสังคม
ร่วมด้วยช่วยกันก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลประโยชน์กำไรใดๆ เป็นสื่อกลางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาการจราจร ปัญหาด้านสาธารณูปโภค ปัญหาอุบัติหตุหรืออุบัติภัยต่างๆ ฯลฯ ในขณะเดียวกันร่วมด้วยช่วยกันยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลาย “ผมเชื่อในเรื่องของทฤษฎี 80:20 คือ 20% ของคนในโลกนี้จะทำงานแทน 80% ของคนในโลกนี้ เพราะฉนั้น Out Put ทั้งหมดจะมาจาก 20% เลยคิดว่าถ้ามีจิตอาสาได้สัก 200 คน ก็คงจะดีใน 77 จังหวัดที่เรามี จังหวัดละสัก 3 คน จากนั้นเราก็คงมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในอนาคต” จากแนวคิดการสร้างจิตอาสาปัจจุบันร่วมด้วยช่วยกัน มีสมาชิกอาสาร่วมด้วยช่วยกันเป็นจำนวนมากครอบคลุมในกรุงเทพมหานครและในทุกภูมิภาค “เราได้รับการอนุมัติจาก กสทช ให้ใช้คลื่นวิทยุติดต่อประสานกับตำรวจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกัน จำนวน 4,000 -5,000 คนที่อยู่รอบกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่ประสานงาน แบ่งเบาภาระหน้าที่ของตำรวจในแต่ละพื้นที่”

“การสร้างบุคคลให้เป็นจิตอาสา คือ ความท้าทายในการบริหาร”
คุณบุญชัยได้ถ่ายทอดแนวคิดของร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งมีแนวคิดหลักๆ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ “เราจะช่วยเหลือผู้คนเมื่อมีปัญหา” และ “เราจะสร้างบุคคลที่มีจิตอาสา” จิตอาสาของร่วมด้วยช่วยกันทำงานด้วยจิตอาสาอย่างแท้จริง ไม่มีผลตอบแทน ไม่มีเงินเดือน “การบริหารคนให้เป็นจิตอาสาไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีการคัดกรองว่า ใครเป็นจิตอาสาจริง ใครเป็นจิตอาสาที่ไม่ได้ตั้งใจ” พนักงานจิตอาสาทุกคนจะต้องผ่านคอร์สฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้องค์ความรู้และทักษะในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างถูกวิธี เช่น เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำ เรียนรู้วิธีการช่วยดับเพลิง เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เรียนรู้ทักษะในการจับสัตว์มีพิษอย่างถูกต้อง “เราจัดคอร์สอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้พนักงานอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับจิตอาสาร่วมด้วยช่วยกันในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น” นอกจากการฝึกอบรมของพนักงานจะมีความสำคัญแล้ว กำลังใจในการทำงานก็มีความสำคัญเช่นกัน “เราซื้อประกันให้ความคุ้มครองแก่จิตอาสาทุกคน เพื่อให้เกิดกำลังใจ และมุ่งหวังให้จิตอาสามีความภาคภูมิใจต่อตนเอง เพราะงานจิตอาสามีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่”
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
๑. เพื่อให้โอกาสกับเยาวชนที่ตั้งใจเรียน และมีศักยภาพในการศึกษา แต่ขาดโอกาสที่จะศึกษาต่อ
๒. เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรักถิ่นฐานบ้านเกิดมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
๓. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง
๔. เพื่อสร้างภาวะการเป็นผู้นำให้กับเยาวชน
๕. เพื่อผลักดันให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด
๖. เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๗. เพื่อดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสาร ผ่านสื่อกระจายเสียงโทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทุกประเภท เพื่อประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
๘. เพื่อประกอบกิจกรรมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
๙. เพื่อประกอบกิจกรรมในการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์
๑๐. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และงานศิลปะ
๑๑. เพื่อประกอบกิจกรรมในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร และดำเนินการส่งเสริม จัดกิจกรรม และสนับสนุนเกษตกร/กลุ่มเกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ให้เกิดความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๑๒. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
เดินตามรอยพระราชดำริฯ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ "เกษตรทฤษฎีใหม่"
หนึ่งในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงชี้แนะให้ชาวไทยได้ตระหนักถึงความสําคัญของแนวคิดพอเพียงตามหลักเศรษฐศาสตร์ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเรื่องของความเกื้อกูล ว่าสังคมใดก็ตามถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยความมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพมีความร่มเย็นเป็นสุขน่าอยู่” คุณบุญชัยได้น้อมนำและเดินตามรอยพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” และนำแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่" มาเป็นหลักในโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 12 และนำองค์ความรู้ที่จากปราชญ์เกษตรชาวบ้านมาปรับใช้ในโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดจนประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มก้อนมากมายทั่วประเทศไทย “การปลูกไม้ 9 ระดับ หรือปลูกไม้ 12 ระดับ แปลว่า การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอก ตั้งแต่ในน้ำ เหนือน้ำ บนดิน เหนือดิน ขึ้นไปเป็นแบบต่างๆ เก็บผลไม้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี ตามแนวพระราชดำริ ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้สูงไม่เท่ากัน แต่หมายถึงการทำเกษตรโดยปลูกไม้เป็นลำดับชั้นในพื้นที่เดียวกัน ธรรมชาติจะมีการอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต้นไม้เล็กจะได้ปุ๋ยจากต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่อาศัยต้นไม้เล็กในการคลุมดินเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น เป็นการปลูกพันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” คุณบุญชัย เบญจรงคกุลให้ข้อคิด
ทฤษฎี“เศรษฐกิจพอเพียง” สร้างพอพียงระดับชาติ
“เราตัดสินใจเดินทางไปประเทศภูฏาน ถ่ายโฆษณา TVC ชุดสำนึกรักบ้านเกิดเป็นชุดที่ 12 เพราะเป็นที่เดียวในโลกที่นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ไปใช้อย่างระดับชาติ ในประเทศไทยเรามีแค่ระดับชุมชน เพื่อเรียนรู้เรื่องความพอพียง ประเทศภูฏานเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำตัวเองให้พอเพียง ทุกคนใส่ชุดประจำชาติเหมือนกันหมด โดยไม่มีใครต้องอวดกันเรื่องเครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋าหนังแพงๆ ชุดแพงๆ ซึ่งดัชนีความสุขของพวกเขาสูงมาก สูงที่สุดในโลก และสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงได้รับการยกย่องจากชาวภูฏานรวมถึงชาวไทยส่วนใหญ่ว่ามีพระจริยวัตรที่งดงาม และเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวภูฏาน” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “ความพอเพียง” คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน คุณบุญชัย กล่าว