top of page

แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 3 ส.ค. 2565


ต้นไม้ใหญ่ไม่หวั่นไหวต่อลมพายุ

ก่อนหน้าที่พิษร้ายของวิกฤตเศรษฐกิจจะออกฤทธิ์ถล่มนักธุรกิจใหญ่จำนวนมากในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ จนล้มหายตายจากไปเกือบหมดตลาด ผมก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่ไม่เคยมองดูศักยภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง ไม่เคยดู หรือวิเคราะห์ถึงศักยภาพที่แท้จริงของคนร่วมชาติส่วนใหญ่ และผมก็ไม่เคยที่จะได้พิจารณาไตร่ตรองถึงพระราชกรณียกิจที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในหลวงของชาวไทยเราทรงลำบากพระวรกายเสด็จประพาสขึ้นเหนือ ลงใต้ ไปทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อทรงหาหนทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในชนบทมาตลอด ๕๗ ปีที่ผ่านมา อีกทั้งไม่ได้สนใจเรื่อง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวงพระองค์ท่านแม้แต่นิดเดียว

วันที่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปีพ.ศ.๒๕๔๐ นั้น นักธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทยเราที่กู้เงินธนาคารต่างชาติมาลงทุน แทบสลบทุกคน พวกเรากู้เงินนอกก็เพราะ ๑) อัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐต่ำ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดูมั่นคง เศรษฐกิจไปได้สวย ๒) กู้ง่ายดายไม่ต้องกราบเท้านายธนาคารไทย และค้ำประกันส่วนตัวเวลากู้ ขอเพียงเอาธุรกิจค้ำประกันตัวเองก็พอ ธนาคารต่างชาติเดินเข้าแถวมาให้กู้ทุกสัปดาห์

ที่ผมใช้คำว่า "แทบสลบ" ก็เพราะไม่ใครสลบ มีบ้างที่เสียสติไปพักใหญ่แต่นักธุรกิจใหญ่ของไทยส่วนใหญ่นั้น กึ๋นใหญ่ ใจกล้า ผมเองแค่มึนๆ อยู่ ๓-๔ วัน พอมีสติก็เริ่มพูดได้อีกครั้งหนึ่ง แต่นั่งเป็นห่วงว่า จะมีที่จอดรถส่วนตัวในตึกที่ทำงานอยู่ไหมหากเขามายึดตึก ยึดกิจการของเราไป และถ้าไม่มีงานทำ จะหาข้าวกินได้อย่างไร


วันนั้น ธุรกิจในเครือของยูคอมเป็นหนี้ธนาคารต่างชาติ และเป็นหนี้หุ้นกู้เงินบาทรวมทั้งสิ้นเกือบ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท อ่านว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทครับ ไม่ได้พิมพ์ผิด ตึกสูงละฟ้า ๒-๓ ตึก ของบมจ.แทค และบมจ.ยูคอม ราคารวมกันก็ไม่ถึง ๒ พันล้านบาท เครื่องบินไอพ่นเล็ก ๘ ที่นั่งของบริษัทก็ไม่ถึง ๒ ร้อยล้าน มูลค่าธุรกิจโดยเฉพาะตัวบริษัทสัมปทานโทรศัพท์มือถือก็ไม่ถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท (สามหมื่นล้านบาท) เรียกว่าทรัพย์สินไม่ถึงครึ่งของหนี้สิน

อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ถึงกับสิ้นหวังคือ ผมจำได้ว่ามีผู้ใหญ่ที่รู้จักเคยพูดไว้ว่า ตราบใดที่หนี้สูงกว่าทรัพย์สินแล้วธนาคารจะไม่ฆ่าเรา จึงคิดในใจว่าคงพอมีหวังที่จะเจรจา สองสัปดาห์ต่อมาจากวันที่ลดค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนไถลลงต่ำไปเรื่อยๆ สร้างความสั่นคลอนให้แก่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

คุณพ่อของผมท่านสอนให้พวกผมระมัดระวัง รอบคอบ "อย่าวัดดวง" แต่คุณแม่ของผมท่านได้สอนให้พวกผม "กล้าหาญ กล้าสู้" ถ้าผมแยกวิเคราะห์คำสอนทั้งสองของคุณพ่อคุณแม่ ผมคงได้แค่ปฏิบัติตัวแบบใดแบบหนึ่ง เพราะคำจำกัดความทั้งคู่ค่อนข้างมีความหมายอยู่คนละขั้ว แต่ถ้าเรารวมคำสอนของทั้งสองท่านเป็น "กล้าหาญ กล้าสู้ แต่อย่าวัดดวง" ความหมายก็เป็นอีกแบบ

ด้วยทัศนะ "กล้าหาญ กล้าสู้ แต่ไม่วัดดวง" ผมได้ตัดสินใจที่จะยอมรับปัญหาเรื่องหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากหนี้สินที่กู้มาลงทุนหนึ่งพันห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเดือนเดียวหนี้เงินบาทของบริษัทได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒ กลุ่มบมจ.ยูคอมเป็นกลุ่มบริษัทกลุ่มแรกในประเทศไทยที่ขอเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินต่างชาติกว่า ๓๐ สถาบัน ข้อเสนอของเราคือ เรายอมรับสภาพหนี้ทุกดอลลาร์ที่ยืมมา แต่ขอเวลาผ่อนชำระยาวออกไปไม่ต่ำกว่า ๕ ปี พร้อมกับแผนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เราหวังว่าวันหนึ่งเมื่อเราฟื้นตัวได้ ธนาคารแหล่านี้ก็จะยินดีที่จะทำธุรกิจกับเราอีก

สัญญาฉบับนั้นเซ็นกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสักขีพยาน และจากวันนั้นก็ไม่มีเจ้าหนี้รายใดมาข่มขู่ว่าจะยึดกิจการของเราเพื่อไปขายทอดตลาด แต่ปล่อยให้เราเป็นอิสระทางความคิดที่จะไปหารายได้มาชำระหนี้สินต่อไป

ย้อนกลับไปถึง ๒-๓ วันแรกของวิกฤตการณ์ลดค่าเงินบาทกลางปี ๒๕๔๐ นั้น ช่วงสมองของผมยังตื้อๆ แต่สามัญสำนึกของผมสั่งการให้ผมคิดเตรียมหาข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงครอบครัวและลูกน้องก่อน ผมนึกถึงที่ดินที่คุณแม่ทิ้งไว้ให้พวกเราที่สระบุรี ๒ แปลง แปลงแรกที่อำเภอพระพุทธบาท มีอยู่ ๘๐๐ ไร่ และแปลงที่สองที่อำเภอแก่งคอย มีที่ดินอยู่ ๑๘๐๐ ไร่ ตัวเลขเหมือนคลื่นความถี่ที่เราให้บริการอยู่ที่บมจ.ดีแทคเลยครับ

หลังจากนั้น ผมก็โทรศัพท์ไปหาเพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นมัธยมชาวเอมริกันที่คบหากันมา ๓๐ ปี ที่บ้านเขาและบอกเพื่อนว่า "นี่ฉันวินาศหมดตัวแล้วนะ" และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้เขาฟัง เพื่อนของผมซึ่งเป็นนักฟังที่ดีมาก เพราะอาชีพเขาคือ นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานเกี่ยวกับปัญหาเยาวชนในสหรัฐอเมริกา นั่งฟังผมอยู่สักครู่แล้วถามผมว่า "แล้วยูจะทำอย่างไรต่อ? " ผมตอบเขาโดยไม่ลังเลใจเลยว่า "ไอจะไปเป็นฟาร์มเมอร์ (เป็นชาวนา) ! "

จากนั้นอีก ๒ วัน เพื่อนผมก็ส่งอี-เมลล์ทางอินเตอร์เน็ทมาหาผมและเตือนผมว่า "บุญชัย ยูเป็นต้นไม้ใหญ่นะ อย่าหวั่นไหวกับลมพายุ แม้ใบของยูจะร่วงหมดต้น จงอดทน หลังมรสุมแล้ว ใบไม้ก็จะผลิใบออกมาอีกครั้ง" ช่างเหมือนบทเพลงไทยเพลงหนึ่งว่า "ดุจดั่งขุนเขา หรือจะไปสน ต่อลมฝนฟ้าดิน...ฯลฯ "

ชีวิตในไร่ของคุณแม่ของผมที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจดูง่ายๆ เพราะเวลาไปถึง ก็จะมีคนที่เราฝากเขาดูแลป่าไม้สัก ๑๐๐,๐๐๐ ต้นที่ปลูกไว้บนพื้นที่ ๔๐๐ ไร่ ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด มาพานั่งรถวนรอบๆ แล้วก็กลับ ชาวนาแถวนั้นก็เรียกผมว่า "นายทุน" ก็ไม่มีอะไรจะมาปรึกษากัน ต่างคนต่างอยู่ พวกเขาก็ฝันที่จะเป็นอย่างผมสักวันถ้าถูกหวย ส่วนผมก็นึกขอบคุณโชคชะตาที่มีเงินทองไม่ต้องลำบากเหมือนชาวชนบท

พอริอ่านจะปลูกข้าวจริงๆ นั่นแหละ วันแรกแห่งการเรียนรู้ชีวิตของคนที่เราเรียกเขาว่า "เกษตรกร" และคำว่า "เกษตรกรรม" ก็มาถึงว่ามันหินขนาด แต่ผมเป็นคนอดทนและกล้าสู้ เรื่องความมานะนั้น น่าจะเป็นสันดานของผมเลย บริเวณที่ดินที่จะสามารถปลูกข้าวได้เป็นที่ลุ่ม ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง อยู่ติดริมถนน มีบ่อน้ำซับอยู่ปลายที่ แต่ก็ไม่มีทางจะทำท่อส่งน้ำมาถึงด้านหน้าของที่ดินได้ ปรึกษาเพื่อนบ้านซึ่งมีที่อยู่ติดกัน คุณพี่วิชัย ศรัทธากุล เป็นทหารเก่า ปลูกข้าวเหมือนกันอยู่ประมาณ ๒๐ ไร่ พี่วิชัยบอกผมว่า "ต้องรอเดือนกรกฎาคมโน่น ฝนมา เราจึงจะปลูก ตอนนี้คุณต้องเริ่มเปิดหน้าดิน เตรียมแปลงหว่านข้าวเสียก่อน"

บริเวณอำเภอพระพุทธบาท เป็นบริเวณที่มีสัมปทานระเบิดภูเขามากที่สุดในประเทศไทย ภูเขาทุกลูกจะถูกจับจองและระเบิดหมด บางลูกสูงถึง ๒๐๐-๓๐๐ เมตร ระเบิดหินได้

ประมาณ ๑๐๐ ปี ทุกโรงโม่หิน ระเบิดหินส่งโรงปูนบ้าง ส่งบริษัทก่อสร้างบ้าง ผมไม่อยากไปทราบว่าเป็นของใครที่อยู่ในแวดวงการเมือง แต่อยากทราบว่า "อำเภอนี้จะมีทางได้ระบบชลประทานสักวันไหม" ตอนนี้เขาเรียกเป็นเขตพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่สามารถเพาะปลูก จึงไม่ต้องมีระบบชลประทานให้ชาวบ้าน มลภาวะฝุ่นก็สูงสุดขีด

ระหว่างรอฝน ผมก็มีเพื่อนบ้านที่เป็นกำนัน และเป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองขนาดกลางที่หัวหน้าพรรคอยู่สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวประมาณ ๕๐๐ ตัว กำนันไม่มีที่ดินเยอะพอที่จะให้ฝูงวัวเดินกินหญ้าได้ ส่วนผมมี ก็เลยเกิดปัญหาการใช้ที่ดินแปลงเดียวกัน แต่วัตถุประสงค์ไม่ตรงกัน ผมจะปลูกข้าว กำนันจะเลี้ยงวัวบนที่ดินเรา ความจริงเมื่อผมเป็นลูกบ้านแถวตำบลหนองเก ที่ท่านกำนันเป็นกำนันอยู่ ผมน่าจะไปเรียนปรึกษาก่อน แต่ผมก็ไม่ได้ไป ท่านกำนันเลยวางแผนเลี้ยงวัว และที่ดินของผมก็ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร ก็น่าจะให้วัวมากินหญ้าได้ เพื่อนบ้านหลายคนแนะนำให้ลุยท่านกำนัน ก็น่าอยู่หรอก แต่เหตุผลของกำนันท่านก็น่าฟัง กำนันท่านว่า "ร้อยวันพันปีก็ไม่เห็นมาทำอะไร ทำไมไม่มาบอกกันก่อน" ผมเลยตัดสินใจให้ลูกน้องกั้นที่ให้วัวเดินไปบริเวณที่เราไม่ใช้ได้ หมดฤดูข้าว กำนันขายวัว ทุกคนค่อยมาคิดกันใหม่ ผมรู้สึกถึงความจนแล้วเริ่มมีความรู้สึกอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในหัวใจของผม คนมีหนี้สินไม่น่ามีสิทธิเถียงใคร


เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันทำงานช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๑ ทุกวันผมต้องคอยต้อนรับผู้แทนจากธนาคารต่างประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ของบมจ.ดีแทค และบมจ.ยูคอม จาก ๓๐ สถาบัน มีจำนวนกว่า ๑๕ สถาบันที่ซ้ำกันสำหรับทั้ง ๒ บมจ. คือเขาให้ทั้งบมจ.ดีแทค และ บมจ.ยูคอม กู้พร้อมกัน และผมยังต้องคอยไปเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เงินบาทของบมจ.ยูคอม ยอดเงินหุ้นกู้เงินบาทมีประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท (สองพันล้านบาท) เวลาประชุม พวกเจ้าหน้าที่กองทุนหนุ่มๆ ที่เคยหมั่นไส้ความสำเร็จผม ก็ได้สำเร็จความสะใจในอารมณ์ด้วยการตำหนิแบบแรงๆ ใส่ผมทุกนัด ผมก็ได้แต่ก้มหน้ารับฟัง โดยไม่มีเงาหัวลูกน้องผู้บริหารระดับสูงรุ่นนั้นสักคนมาเป็นเพื่อน

เจ้าหนี้ทุกท่านต้องการทราบแผนชำระเงินคืนอย่างเดียว คำถามเช่น "เมื่อไหร่จะเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลดหนี้? " "แผนการตลาดจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร ? " "ยอดขายทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ? " "จะลดค่าใช้จ่ายลงสักครึ่งหนึ่งได้ไหม? แล้วเพิ่มยอดขายเป็นสองเท่าได้ไหม? " "จะปลดพนักงานออกสักครึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้ไหม? " ผมเลยต้องประชุมลูกน้อง เพื่อขอทราบถึงสถานะภาพทางการเงินของบริษัท และยอดขายของบริษัททุก ๒ สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของฝ่ายขายจะรายงานถึงความทดถอยของจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือที่น้อยลงทุกเดือน และปริมาณหนี้เสีย หนี้สูญที่เพิ่มขึ้นโดยลำดับ ก็คนไม่มีเงินจะจ่ายน่ะครับ

วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งคิดตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับกลาง (เจ้าหน้าที่ระดับสูงหายหัวหมด ไม่กล้ามารายงานเอง) กำลังบรรยายถึงยอดลูกค้าที่ลดลง เดือนหนึ่งหลายหมื่นคน ช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๒ บมจ.ดีแทคมีลูกค้าอยู่ประมาณ ๑ ล้าน ๑ แสนคน ในอัตราที่ลูกค้าสูญหายไปในแต่ละเดือน ไม่ถึงปีครึ่งบริษัทของเราก็จะไม่มีลูกค้าเหลืออยู่แน่

วันนั้นเอง ผมเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของทุกคนในชาติของเรา ในสังคมของเรา คนชั่วเหมือนเชื้อโรค คนดีเหมือนภูมิคุ้มกัน ตัวเราเหมือนอวัยวะ ถ้าเชื้อโรคกำเริบ ร่วมมือกันเข้าเกาะกินชาติ ระบบเศรษฐกิจ บริษัทห้างร้าน ประชาชน และคนที่ดีๆ จำนวนมากถูกทำลายขีดความสามารถในการดำรงชีวิตลง เราก็เหมือนร่างกายที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายไป อา!! "เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน" นั่นเอง

มีญาติที่ดีส่งบทกวีร่วมสมัยยาวหนึ่งหน้า เรื่อง "ตากับตีน" มาให้อ่าน ผมอ่านแล้วหัวเราะไม่ออก เพราะสมเพชตัวเอง เพราะไม่ว่าผมจะเลือกตัวเองเป็นตา ที่ทะเลาะกับตีนว่าตัวเองสำคัญกว่า มองเห็นและพาตีนไปได้ทุกแห่ง หรือเลือกเป็นตีน ที่บอกว่า ถ้าไม่มีฉันเดินพาไป ตาก็คงได้แต่มอง สุดท้าย ตา ก็หลับตาลง ตีนก็เดินพาตกเหวตาย

บางท่านอาจจะคิดได้ว่า "แหม! กว่าจะคิดได้ ก็แก่เกือบห้าสิบปีแล้ว" คงจะจริงถ้าเราคาดหวังว่าจะตายเมื่ออายุหกสิบ แต่สำหรับผม "วันนี้ ก็มีค่ามากที่สุดแล้ว" ขอผมได้สู้วันนี้อย่างเต็มที่ ถ้าพรุ่งนี้มา ผมจะสู้ต่อ เมื่อวานทำอะไรผิดพลาดไป คบคนพาล พาลพาไปหาผิด วันนี้ คบบัณฑิต คบกัลยาณมิตร บัณฑิตพาไปหาผล ปรับปรุงตัวเอง ผมว่านี่เหละ "ลูกผู้ชาย"

เมื่อบมจ.ยูคอม (บริษัทแม่ของบมจ.ดีแทค) เซ็นสัญญาประนอมหนี้ และเริ่มทำงานหนักเพื่อใช้หนี้ ปรับปรุงคุณภาพของผลงานและทรัพยากรบุคคล ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น บมจ.ยูคอมมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแล้วตามอัตราแลกเปลี่ยนใหม่เป็น ๒๑,๑๐๐ ล้านบาท (สองหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยล้านบาท) ขณะนี้เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.๒๕๔๗ หนี้สินได้ลดเหลือ ๕,๗๙๐ ล้านบาท (ห้าพันเจ็ดร้อยเก้าสิบล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นหนี้สินหมุนเวียนในธุรกิจ ๑,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาท) และหนี้ซึ่งนำไปลงทุนในธุรกิจอีกสี่พันเจ็ดร้อยเก้าสิบล้านบาท

Comments


มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

เลขที่ 499 อาคารเบญจจินดา ชั้น 5A ถ.กำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม 10900

โทร. 02-016-5555 ต่อ 1089

แฟกซ์. 02-016-5606
อีเมล์: rbk_foundation@rakbankerd.com

Logo มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

© 2024 by ruamduayfoundation |  Cookies Policy  |  Privacy Policy

bottom of page