top of page

แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ตอนที่ 8

อัปเดตเมื่อ 3 ส.ค. 2565


สำนึกของผู้นำชุมชน


ย้อนกลับมาเรื่องของ "โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน" ของพวกผม ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มาช่วยงานมากมายเกินจะบรรยายในหนึ่งหน้ากระดาษ แต่ก็ต้องขอกล่าวถึงพรรคพวกที่เป็นตับ ไต หัวใจ ปอด ตา ลิ้น หู จมูก ของโครงการเราหน่อยครับ และผมยังยืนยันว่า ทุกท่านสำคัญ ขาดอวัยวะไปชนิดใด ชนิดหนึ่ง โครงการก็จะไม่สบายครับ


ผมต้องกล่าวถึงบุคคลที่คอยปลุกระดมความฮึกเหิมและสร้างจิตวิญญาณของความเป็นนักต่อสู้แก่เยาวชนทุกรุ่นที่จบปริญญาตรีไปแล้ว ๒ รุ่น ด้วยความตั้งใจดีของพวกเรา เยาวชนกว่า ๑๒ คน (สิบสองคน) จากเกือบร้อย ๑๐๐ คน (ร้อยคน) ที่จบไป ก็มาช่วยงานของ "สหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน" เขาผู้นั้นคือ คุณสนธิญาณ หนูแก้ว คุณสนธิญาณเป็นคนที่ชาติก่อนมีอำนาจ บารมีมากมาย เป็นใหญ่เป็นโต แต่สร้างกรรมร้ายไว้มาก พอๆ กับสร้างกรรมดีไว้ ชาตินี้จึงเกิดมามีอุปสรรคในชีวิตมากมาย แต่ด้วยกรรมดีแต่ปางก่อน จึงสามารถกระโดดข้ามวิบากกรรมมาเรื่อยๆ ประสบการณ์ชีวิตในมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงใช้เป็นเรื่องเล่าให้น้องๆ ฟังได้เป็นประจำ เรื่องทัศนะตรงข้ามกับทุนนิยมในอดีตก็ดี เรื่องพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากตอนบวชเรียน เดินธุดงค์ไปในป่าก็ดี ล้วนเป็นประโยชน์แก่พืชพันธุ์ของแผ่นดินรุ่นใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม

 

อีกท่านหนึ่งคือ ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์นักรบ ระวังการณ์ จากภาควิชาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยามหิดล อาจารย์นักรบท่านนี้ ได้ช่วยมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดรบกับความคิดของเยาวชนตลอดเวลา ๖ ปี (หกปี)ที่ผ่านมา อาจารย์ช่วยมูลนิธิเตรียมหัวข้อวิชาที่จะถ่ายทอดให้แก่เยาวชนซึ่งอยู่ห่างไกลกัน เยาวชนทุกคนเรียนหนังสือในบ้านเกิดของตัวเอง จะมารวมตัวเข้าค่ายปีละ ๑ ครั้ง(หนึ่งครั้ง)เท่านั้นเอง ส่วนค่ายผู้นำชุมชน ค่ายนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นค่ายเฉพาะกลุ่ม ไม่มากเท่ากับจำนวนค่ายใหญ่ที่มีเยาวชนมากว่า ๗๐๐ คน (เจ็ดร้อยคน) ต่อปี จากทุกจังหวัดมาร่วมประชุม หัวข้อเรื่องที่จะนำมาถก พูดคุยในค่าย ก็ต้องเตรียมล่วงหน้าตลอดเวลา


ส่วนใหญ่แล้ว เยาวชนระดับอุดมศึกษา จะยึดการบริหารค่ายจากพี่ๆ ในมูลนิธิและอาจารย์ที่ปรึกษาไปบริหารเองทุกปี และก็ทำผิดพลาด ซ้ำซาก จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งตลอดเวลา พวกผมจะปล่อยให้พลาดสัก ๒ ปี(สองปี) แล้วค่อยปฏิวัติซ้อน ยึดกลับ หลังจากนั้นค่อยประกาศให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนวิธีผู้ใหญ่เขาบริหารบ้านเมืองแบบใดแบบนั้น

 

โอ้ ! ก่อนจะลืม กล่าวถึงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดนั้น เราสมมุติว่า เยาวชนทุกคนจากทั่วประเทศเป็นสมาชิก เป็นประชากรของจังหวัดสำนึกรักบ้านเกิด ทั้งหมดมีอำเภอ ๘ อำเภอ มีตำบล ๓๒ ตำบล และมีหมู่บ้าน ๖๔ หมู่บ้าน เยาวชนจะถูกแบ่งให้อยู่ตามหมู่บ้านทั้ง ๖๔ หมู่บ้าน และมีการเลือกตั้งตัวแทนการปกครองของชุมชนแต่ละระดับทุก ๒ ปี(สองปี)


สรุปคือ ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เยาวชนจำนวนหนึ่งจะถูกเพื่อนร่วมโครงการเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นนายอำเภอ และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่พวกเราไม่ได้มอบให้เป็น ซีอีโอ ครับ


เรายังมี คุณรุ่งคนานต์ สัมฤทธิ์จินตนา เป็นพี่สาวของน้องๆ รับประสานงานระดับชีวิตจริง จากประสบการณ์ในกลุ่มสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. สหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน บมจ.ยูคอม ทำให้คุณรุ่งคนานต์สามารถที่จะทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันของพืชพันธุ์ของแผ่นดินทั้งหลายลุล่วงไปด้วยดีเกือบทุกครั้ง คุณรุ่งคนานต์มีทีมผู้ช่วยอีก ๒ ท่าน และเยาวชนในโครงการที่จบการศึกษาได้ปริญญาตรีมาปะที่ข้างฝามูลนิธิอีก ๓ ท่านช่วยอยู่ครับ


ปัญหาของพวกว่าที่ตัวเชื่อมของสังคม มีทุกชนิดตั้งแต่เคยติดยาบ้า, คุณพ่อยิงเขาตาย, คุณพ่อคุณแม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เลิกรากัน นับสิบครอบครัว, อยู่กับยายบนที่ดินบุกรุก, จะเรียนต่อแต่เกิดมาไม่มีบัตรประชาชนเพราะพ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย, หนีเรียนไปอยู่ปั๊ม และอีกมากมาย คล้ายๆ เรื่องปัญหาชีวิตของท่านผู้อ่านจำนวนมาก


 

อีกท่านหนึ่งที่ช่วยประสานกับภาคการเมืองเมื่อหกปีก่อนจนโครงการเกิด และได้จากพวกเราไปท่ามกลางความอาลัยของทุกคน ตัวไปแล้ว ความดียังอยู่ครอบงำจิตใจพวกเราตลอดเวลา เสมือนท่านยังอยู่กับเราทุกวินาที ท่านคือ อดีตท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านปลัดด๊อกเตอร์โกวิทย์ วรพิพัฒน์


ท่านปลัดโกวิทย์ เป็นผู้ซึ่งดึงเอากระทรวงศึกษาธิการมาร่วมโครงการสำนึกรักบ้านเกิดกับพวกเรา จนกลายเป็นการทำงาน แบบไตรภาคี ที่ไม่ต้องบังคับ รัฐบาลไม่ต้องออกเงิน แต่ให้ข้าราชการจากศึกษาธิการจังหวัดทุกๆ จังหวัด มาสนับสนุนโครงการ กลุ่มบุคคลที่เป็นข้าราชการสังกัดศึกษาธิการจังหวัดของกระทรวงศึกษาธิการนั้น นับว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระครับ เพราะขั้นก็ไม่ได้รับพิจารณาถ้ามาช่วยโครงการนี้ และยังต้องมารับผิดชอบชีวิตความปลอดภัยของเยาวชนด้วยการขับรถนำเยาวชนมาเข้าค่ายทุกปี พวกเราขอคารวะพี่ๆ ทุกคน ทั้งที่มาใหม่และจากไปตามวาระโยกย้ายและที่ยังช่วยอยู่มาหลายปีครับ


การสร้างความสำนึกให้ฝังใจเยาวชนของเราคงไม่ใช่ด้วยการให้ทุน ถ่ายรูป ให้โอวาท หรอกครับ โครงการสำนึกรักบ้านเกิดยังไม่เคยถ่ายรูป แจกทุนเลยตั้งแต่เริ่มโครงการ และคงไม่มีการถ่ายรูปแบบนี้เกิดขึ้น เพราะนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพวกเรา และมันไม่มีประโยชน์ในการพัฒนาผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ได้เลย


เยาวชนของเราต้องการความประทับใจในเรื่องดีๆ ที่วีรชน บรรพชนผู้กล้าหาญได้กระทำเพื่อแผ่นดิน การมอบประสบการณ์ในการสู้ชีวิตก็ดี มุมมองของชีวิตที่เป็นธรรม ปราศจากอคติที่ซ้ำซากและขาดสติ แนวปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติแบบ "มัชฉิมปฏิบัติ" ไม่ตึงไปแบบสังคมนิยม ไม่หย่อนแบบทุนนิยม บริโภคนิยม เรามีทั้งอดีตที่จะสอน ปัจจุบันที่จะชี้ให้เห็น และอนาคตที่จะได้วางแผนร่วมกัน


การที่ผมมีชื่อใหม่เกิดขึ้นให้เยาวชนในโครงการเรียกว่า "พี่ใหญ่" นั้น หาใช่ว่าผมชื่อเล่นชื่อ "ใหญ่" ไม่ และไม่ใช่เป็นการเลียนแบบชื่อหัวหน้าสำนักกำลังภายในของหนังจีน อีกทั้งไม่ใช่ "พี่ใหญ่" ที่เป็นหัวหน้าแก๊งค์ คำว่า "พี่ใหญ่" ในทัศนะของผมคือ คนที่เป็นพี่คนโต คนที่ยอมลำบากแบกภาระแทนน้องๆ คนที่ยอมเสียสละ และเป็นคนที่ขันอาสาเดินนำหน้าไปแก้ปัญหา ผมปรารถนาที่จะเห็นทุกหมู่บ้านของประเทศไทยเราทั้ง ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน (เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน) มีพี่ใหญ่ในอนาคตทุกหมู่บ้าน


ผมเชื่อว่า เราต้องการ "พี่ใหญ่" วันนี้มากกว่า "พี่เบิ้ม" ทั้งหลายที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง พวกผมอยากช่วยผลักดันให้เยาวชนในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน เป็น "พี่ใหญ่" ทุกคน และคำว่า "พี่ใหญ่" เป็นได้ทั้งชายและหญิงครับ


นอกจากรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันที่พวกเราจัดทำอยู่ใน ๑๗ จังหวัด (สิบเจ็ดจังหวัด)ในขณะนี้ และเยาวชนที่เรียนอยู่ตามระดับชั้นการศึกษาต่างๆ ๗๖๐ คน ตั้งแต่ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๑ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๒ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๓ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๔ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๕ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้น ม.๖ ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษาปีที่หนึ่ง ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษาปีที่สอง ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษาปีที่สาม และอีก ๗๖ คนเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษาปีที่สี่ ตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศแล้ว พวกผมยังได้จัดตั้งเว็บไซต์ "รักบ้านเกิดดอทคอม" (RAKBANKERD.COM) ขึ้น เพื่อให้สหกรณ์ชนิดต่างๆ ทั่วประเทศมาทดลองค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันบนอินเตอร์เน็ท สหกรณ์การเกษตรทั่วไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกและใช้บริการได้เลย และต่อไปอีกสิบปีข้างหน้า ให้เป็นเครื่องมือพัฒนาชาติบ้านเกิดของเยาวชนทั้งหลายในโครงการ "สำนึกรักบ้านเกิด" ครับ

Comments


มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

เลขที่ 499 อาคารเบญจจินดา ชั้น 5A ถ.กำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม 10900

โทร. 02-016-5555 ต่อ 1089

แฟกซ์. 02-016-5606
อีเมล์: rbk_foundation@rakbankerd.com

Logo มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

© 2024 by ruamduayfoundation |  Cookies Policy  |  Privacy Policy

bottom of page